องค์ประกอบของรายงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางชีววิทยา

องค์ประกอบของรายงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางชีววิทยา

เมื่อนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางชีววิทยาเสร็จสิ้น จะต้องดำเนินการจัดทำ “รายงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางชีววิทยา” และส่ง “อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา” ภายใน 15 วัน (นับจากวันที่ฝึกเสร็จ) หรืออาจมีการกำหนดวันที่ส่งรายงานนอกเหนือจากนี้ในปฏิทินรายวิชาฯ

โดยองค์ประกอบของรายงานและการจัดรูปแบบมีดังนี้

– ปก ขนาดกระดาษ A4 สีเหลืองอ่อน การพิมพ์ให้ใช้แบบอักษรเป็น TH Niramit AS ขนาด 20 พ๊อยท์ ตัวหนา มีส่วนประกอบ ๓ ส่วนหลักคือ

  • ส่วนบน  : ประกอบด้วยตรามหาวิทยาลัย ให้ใช้แบบขาวดำเท่านั้น จัดวางกึ่งกลางหน้าด้านบนสุด กำหนดขนาดความสูง 4.08 เซนติเมตร และความกว้าง 3.23 เซนติเมตร บรรทัดถัดลงมาให้พิมพ์คำว่า “รายงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางชีววิทยา” บรรทัดถัดลงมาให้พิมพ์ชื่อสถานที่ฝึกฯ
  • ส่วนกลาง : พิมพ์ชื่อนักศึกษา กึ่งกลางหน้ากระดาษ กรณีมีหลายคนให้เรียงลำดับตามตัวอักษร
  • ส่วนล่าง  : พิมพ์ข้อความกึ่งกลางหน้ากระดาษ “เสนอ” บรรทัดถัดลงมาพิมพ์ “สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” บรรทัดถัดลงมาพิมพ์ “มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี” บรรทัดถัดลงมาพิมพ์ “ภาคเรียนที่ x ปีการศึกษา xxxx”

– คำนำ ให้พิมพ์คำว่า “คำนำ” กึ่งกลางหน้ากระดาษแบบอักษร TH Niramit AS ขนาด 18 พ๊อยท์ บรรทัดถัดลงมาพิมพ์เนื้อหาคำนำใช้แบบอักษร TH Niramit AS ขนาด 16 พ๊อยท์ ย่อหน้า 1.5 เซนติเมตรและกระจายแบบไทย  บรรทัดถัดลงมาให้พิมพ์ชื่อนักศึกษา

– สารบัญ เป็นรายการของส่วนประกอบทั้งหมดในรายงาน นับตั้งแต่หน้าคำนำจนถึงภาคผนวก โดยหน้าคำนำและสารบัญให้ลำดับหน้าเป็นอักษรไทย ส่วนบทที่ 1 เป็นต้นไปให้ลำดับหน้าเป็นเลขไทย โดยหน้าสารบัญให้พิมพ์คำว่า “สารบัญ” กึ่งกลางหน้ากระดาษแบบอักษร TH Niramit AS ขนาด 18 พ๊อยท์ บรรทัดถัดลงมาพิมพ์เนื้อหาสารบัญใช้แบบอักษร TH Niramit AS ขนาด 16 พ๊อยท์

– บทที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของสถานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ (ขนาด 18 พ๊อยท์)

1.1 ประวัติความเป็นมาของหน่วยงาน (ขนาด 16 พ๊อยท์)

1.2 สถานที่ตั้ง

1.3 ผังโครงสร้างการบริหารองค์กร

1.4 วิสัยทัศน์ พันธกิจ

1.5 ข้อมูลทั่วไป (ให้ระบุถึงความรับผิดชอบหรือภาระหน้าที่ที่หน่วยงานนั้นต้องทำ)

– บทที่ 2 รายละเอียดการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

2.1 ตารางการฝึก

2.2 งานที่ได้รับมอบหมาย (ให้ระบุถึงงานที่ได้ฝึกปฏิบัติเท่านั้น อาจแบ่งเป็นหมวดหมู่ กลุ่มงาน หรือหัวข้อหลัก-ย่อย ตามความเหมาะสม)

– บทที่ 3 สรุปการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

3.1 สรุป

3.2 ปัญหาและอุปสรรค

3.3 ข้อเสนอแนะ

– บรรณานุกรม ให้ใช้รูปแบบการเขียนอ้างอิงตามแบบของรายวิชาโครงงานทางชีววิทยา

– ภาคผนวก (ถ้ามี เช่น ภาพประกอบการปฏิบัติงาน เอกสารที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ)

สำหรับเนื้อหารายงานตั้งแต่บทที่ 1-3 จะต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 15 หน้า แต่ไม่เกิน 20 หน้า ส่วนการตั้งค่าขอบกระดาษให้ตั้งด้านซ้าย 1.5 นิ้ว ส่วนด้านบน ล่าง และขวาให้ตั้ง 1 นิ้ว