การพิมพ์และจัดรูปแบบเล่มรายงาน
การพิมพ์และจัดรูปแบบเล่มรายงาน
รูปแบบการพิมพ์ทั้งข้อเสนอโครงการวิจัยและรายงานวิจัยทางชีววิทยา ของสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีข้อกำหนดดังนี้
1. ตัวพิมพ์
ตัวอักษรที่ใช้พิมพ์ในเล่มเป็นชนิด TH Niramit AS (ดาวน์โหลดได้จาก http://www.f0nt.com/release/13-free-fonts-from-sipa/) สีดำ คำชัด และต้องใช้แบบเดียวกันตลอดทั้งเล่ม โดยใช้อักษรขนาดต่างกันในลักษณะดังนี้
- บทที่ ใช้ขนาดตัวอักษร 20 point ตัวหนา
- หัวข้อสำคัญ ใช้ขนาดตัวอักษร 18 point ตัวหนา
- หัวข้อย่อย ใช้ขนาดตัวอักษร 16 point ตัวหนา
- ตัวพื้นของการพิมพ์ทั้งเล่ม ใช้ขนาดตัวอักษร 16 point ตัวธรรมดา
2. กระดาษพิมพ์
เป็นกระดาษสีขาวไม่มีบรรทัด ขนาดมาตรฐาน A4 หนา 70-80 แกรม พิมพ์เพียงหน้าเดียว
3. การเว้นที่ว่าง
3.1 การเว้นที่ว่างริมขอบกระดาษ กำหนดให้เว้นขอบกระดาษทั้ง 4 ด้าน ดังนี้ ขอบกระดาษด้านบน 1.5 นิ้ว ขอบกระดาษด้านซ้ายมือ 1.5 นิ้ว ขอบกระดาษด้านขวามือและขอบกระดาษด้านล่าง 1 นิ้ว
3.2 การกำหนดระยะห่างระหว่างบรรทัด ระยะห่างระหว่างบรรทัดตัวพื้นของการพิมพ์ทั้งเล่มให้เว้นระยะห่างระหว่างบรรทัด “หนึ่งเท่า” ส่วนหัวข้อสำคัญให้เว้นระยะห่างก่อนและหลัง 12 point และหัวข้อย่อยให้เว้นระยะห่างก่อนและหลัง 6 point
4. การย่อหน้า
สำหรับบรรทัดแรกให้เว้นระยะตัวอักษรจากแนวขอบข้อความด้านซ้ายมือหรือย่อหน้า 1.3 เซนติเมตร หากต้องการย่อหน้าย่อยลงมาอีกให้ย่อหน้าห่างจากย่อหน้าหลักครั้งละ 0.4 เซนติเมตร พร้อมทั้งจัดแนวข้อความ “กระจายแบบไทย”
5. การลำดับหน้าและการพิมพ์เลขหน้า
5.1 ส่วนหน้า การลำดับหมายเลขหน้า “ส่วนหน้า” ของรายงานวิจัยให้เริ่มนับตั้งแต่หน้าอนุมัติไปถึงหน้าสุดท้ายก่อนถึงส่วน “เนื้อเรื่อง” โดยให้ใช้ตัวอักษรภาษาไทย โดยพิมพ์ไว้ที่มุมบนขวามือห่างจากขอบกระดาษด้านบนตรงกับแนวขอบข้อความขวามือ
5.2 ส่วนเนื้อเรื่อง การลำดับหมายเลขหน้าส่วน “เนื้อเรื่อง” เป็นต้นไป ให้ใช้ตัวเลขอารบิค 1, 2, 3, … ตามลำดับ โดยพิมพ์ไว้ที่มุมบนขวาตรงกับแนวขอบข้อความขวามือ ยกเว้นหน้าแรกของแต่ละบทและหน้าที่พิมพ์คำว่า “ภาคผนวก” ไม่ต้องพิมพ์การลำดับเลขหน้า
6. การพิมพ์บท
บทที่จะต้องขึ้นหน้าใหม่เสมอ และมีเลขประจำบท โดยพิมพ์ไว้ตรงกลางตอนบนของหน้ากระดาษ ส่วนชื่อบทให้พิมพ์กลางหน้ากระดาษในบรรทัดถัดลงมา