องค์ประกอบของรายงานฉบับสมบูรณ์
องค์ประกอบของรายงานฉบับสมบูรณ์
รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์สำหรับการทำโครงงานทางชีววิทยามีส่วนประกอบสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้
ก. ส่วนหน้า ส่วนหน้าของโครงการวิจัยทางชีววิทยาประกอบด้วยส่วนย่อยเรียงลำดับคือ ปกนอก ใบรองปก ปกใน หน้าอนุมัติ บทคัดย่อ กิตติกรรมประกาศ สารบัญ สารบัญตาราง สารบัญภาพ ดังรายละเอียดในแต่ละส่วนดังนี้
1. ปกนอก ขนาดกระดาษ A4 ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หน้าปกนอก สันปก และปกหลัง
1.1 หน้าปกนอก ประกอบด้วย 6 ส่วน ดังรายละเอียดดังนี้
- 1.1.1 ตรามหาวิทยาลัย (แบบขาวดำ) วางห่างจากขอบกระดาษด้านบน 1.5 นิ้ว (ดาวน์โหลดไฟล์ตรามหาวิทยาลัยได้ที่เมนู “ดาวน์โหลดไฟล์”) โดยกำหนดขนาดรูปด้านสูง (height) เป็น 3.49 เซนติเมตร และด้านกว้าง (width) เป็น 2.78 ซม.
- 1.1.2 ชื่อโครงงานวิจัยทางชีววิทยา วางถัดจากตรามหาวิทยาลัย ในกรณีที่ชื่อยาวให้จัดเป็น 2-3 บรรทัด โดยจัดวางแบบพิรามิดหัวกลับ
- 1.1.3 ชื่อผู้เขียน มีเฉพาะชื่อและนามสกุล ยกเว้น หากมียศ ฐานันดรศักดิ์ ราชทินนามและสมณศักดิ์ให้ใส่ไว้ด้วย หากมีผู้เขียนหลายคนให้เรียงลำดับตามตัวอักษร โดยพิมพ์บรรทัดละคน
- 1.1.4 (ข้อความ) โครงงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา
- 1.1.5 (ข้อความ) มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี
- 1.1.6 ปี พ.ศ. ที่อนุมัติโครงงานวิจัยทางชีววิทยา โดยให้เขียนเฉพาะตัวเลข
1.2 สันปก ระบุ ชื่อเรื่อง และปีที่อนุมัติโครงงาน โดยข้อความเหล่านี้วางยาวตามสันปก ในกรณีที่ชื่อยาวให้จัดเป็น 2 บรรทัด โดยจัดวางแบบพิรามิดหัวกลับ
1.3 ปกด้านหลัง ต้องไม่มีข้อความใดๆ
2. ใบรองปก กระดาษว่าง 1 แผ่น
3. ปกใน พิมพ์ข้อความเหมือนกับหน้าปกนอก
4. หน้าอนุมัติ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้ พิมพ์ข้อความหนากลางหน้ากระดาษว่า “ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี”
ชื่อโครงงานวิจัย
ชื่อผู้วิจัย พร้อมคำนำหน้า หากมียศ ฐานันดรศักดิ์ ราชทินนาม สมณศักดิ์ ให้ใส่ไว้ด้วย
คณะกรรมการที่ปรึกษาและคณะกรรมการสอบ มีลายมือชื่อและรายนามของคณะกรรมการสอบโครงงานวิจัยทางชีววิทยา ซึ่งประกอบด้วย ประธานที่ปรึกษาโครงงาน กรรมการที่ปรึกษาโครงงาน และกรรมการสอบโครงงาน โดยเรียงลงมาตามลำดับ
5. บทคัดย่อ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
5.1 ข้อมูลโครงงานวิจัยทางชีววิทยา ประกอบด้วยหัวข้อเรียงลำดับดังนี้
- ชื่อโครงงานวิจัย
- ชื่อผู้วิจัย
- ปีที่สำเร็จการศึกษา
- ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
5.2 เนื้อหาบทคัดย่อ คือ การสรุปเนื้อหาโครงงานวิจัยทางชีววิทยาที่กระชับ ชัดเจน ครอบคลุมปัญหา วัตถุประสงค์ขอบเขตการวิจัย วิธีการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล เครื่องมือ อุปกรณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ผลการวิจัย สรุปและข้อเสนอแนะ
6. กิตติกรรมประกาศ เป็นข้อความกล่าวขอบคุณผู้ที่มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือและให้ความร่วมมือในการทำและเขียนรายงาน ให้พิมพ์คำว่า “กิตติกรรมประกาศ” ไว้กลางหน้ากระดาษ โดยเนื้อหาไม่ควรยาวเกิน 1 หน้า และให้พิมพ์ชื่อผู้เขียนไว้ท้ายข้อความ มีเฉพาะชื่อและนามสกุล ยกเว้น หากมียศ ฐานันดรศักดิ์ ราชทินนาม สมณศักดิ์ ให้ใส่ไว้ด้วย ตามด้วยเดือนและปีที่เขียน
7. สารบัญ เป็นรายการของส่วนประกอบสำคัญทั้งหมดของโครงงานวิจัยทางชีววิทยา นับตั้งแต่หน้าอนุมัติถึงหน้าสุดท้ายของรายงาน โดยมีเลขหน้ากำกับแต่ละส่วนที่เรียงตามลำดับของเนื้อหาในเล่มโครงการวิจัยทางชีววิทยา โดยพิมพ์คำว่า “สารบัญ” ไว้กลางหน้ากระดาษ หากไม่สามารถพิมพ์จบในหน้าเดียวกันได้ให้ขึ้นหน้าใหม่และพิมพ์คำว่า “สารบัญ (ต่อ)”
8. สารบัญตาราง (ถ้ามี) เป็นส่วนที่แสดงรายการชื่อตารางทั้งหมดในรายงานโครงงานวิจัยทางชีววิทยา ทั้งในส่วนเนื้อเรื่องและในภาคผนวก โดยจัดเรียงตามลำดับตามเลขที่ของตารางและเลขหน้าตารางนั้นที่ปรากฏ โดยพิมพ์คำว่า “สารบัญตาราง”กลางหน้ากระดาษหากไม่สามารถพิมพ์จบหน้าเดียวให้ขึ้นหน้าใหม่และพิมพ์คำว่า “สารบัญตาราง (ต่อ)”
9. สารบัญภาพ (ถ้ามี) เป็นรายการระบุชื่อและตำแหน่งหน้าของภาพประกอบทั้งหมดในรายงานโครงงานวิจัยทางชีววิทยา เช่น ภาพถ่าย แผนภูมิ กราฟ แผนฝัง โดยพิมพ์คำว่า “สารบัญภาพ” กลางหน้ากระดาษหากไม่สามารถพิมพ์จบหน้าเดียวให้ขึ้นหน้าใหม่และพิมพ์คำว่า “สารบัญภาพ (ต่อ)”
ข. เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องของโครงงานวิจัยทางชีววิทยา แบ่งออกเป็น 5 บท รายละเอียด ประกอบด้วยบทต่างๆ ดังนี้
บทที่ 1 บทนำ ประกอบด้วย
- 1.1 ที่มาและความสำคัญ กล่าวถึงภูมิหลังความเป็นมา เพื่อนำไปสู่ปัญหาในการทำวิจัย ตลอดจนความสำคัญของการวิจัย
- 1.2 วัตถุประสงค์ ระบุวัตถุประสงค์ของการวิจัยอย่างชัดเจน หากมีมากกว่า 1 ข้ออาจลำดับข้อย่อยเป็น 1.2.1 , 1.2.2, …… ตามำลำดับ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญ
- 1.3 ขอบเขตการวิจัย ระบุขอบเขตของเนื้องานที่ทำการศึกษาให้ครอบคลุมและชัดเจน อาจแยกลำดับเป็นข้อ โดยเรียงลำดับตามความสำคัญ หรือเขียนเป็นร้อยแก้วใน 1 ย่อหน้าก็ได้
- 1.4 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ อธิบายถึงคุณค่าและประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัย โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ด้านคือ ด้านที่จะได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากการวิจัยว่าเกิดหลักการหรือทฤษฎีใหม่อะไรบ้าง และด้านที่จะนำความรู้ที่ค้นพบจากการวิจัยไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานอะไรบ้าง
- 1.5 คำจำกัดความ (ถ้ามี) เป็นหัวข้อที่อธิบายความหมายของคำศัพท์ที่เป็นคำหลักในการวิจัย โดยให้ความหมายเฉพาะในบริบทของการวิจัยนั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจความหมายของคำศัพท์ต่างๆ
- 1.6 สัญลักษณ์ คำย่อ และตัวย่อ (ถ้ามี) เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจและความสะดวกในการจัดพิมพ์เอกสารโดยไม่ต้องพิมพ์คำเต็มซ้ำหลายๆ ครั้ง
บทที่ 2 การตรวจเอกสาร คือการสรุปความเป็นมา ความสำคัญ ข้อมูล วิธีการวิจัย และผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงงานเรื่องนั้น มีการอ้างอิงเอกสารที่เกี่ยวข้อง อาจแบ่งหัวข้อย่อยเป็น 2.1, 2.2, ……. ตามลำดับ
บทที่ 3 วิธีการศึกษา คือส่วนที่แสดงถึงวัสดุและอุปกรณ์ เครื่องมือในห้องปฏิบัติการต่างๆ อาจมีรูปภาพหรือแผนภาพแสดงอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ และอธิบายวิธีการวิจัย การเก็บตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่าง ช่วงเวลาที่เก็บตัวอย่าง การทดลองอย่างชัดเจนเป็นขั้นตอนตามลำดับระบุการวิเคราะห์ข้อมูล สถิติ โปรแกรมทางสถิติที่ใช้ โดยแบ่งเป็นข้อย่อยซึ่งประกอบไปด้วย
- 3.1 อุปกรณ์และเครื่องมือ
- 3.2 วัสดุและสารเคมี
- 3.3 วิธีการทดลอง
บทที่ 4 ผลและวิจารณ์ผลการทดลอง เสนอผลการวิจัยโดยละเอียดตามลำดับหัวข้อของการทดลอง การเสนออาจเป็นแบบบรรยายหรือใช้ตารางหรือภาพประกอบ ส่วนการวิจารณ์ผลการทดลองเป็นการอธิบายหรือตีความหมายผลการวิจัยให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้เหตุผลแก่การทดลองนำแนวคิด ทฤษฎีและผลการวิจัยมาสนับสนุน วิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลการทดลองอื่นๆ ในด้านเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อดูความแตกต่างและความเหมือนเพื่อหาข้อมูลมาสนับสนุนเป็นการเพิ่มคุณค่าในการนำไปใช้ประโยชน์
บทที่ 5 สรุปผลการทดลอง เป็นการอธิบายสั้นๆ ว่าในการวิจัยหรือการศึกษาได้พบอะไรบ้างที่เป็นจุดเด่นที่สำคัญ อาจมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้ โดยให้แยกเป็น
- 5.1 สรุปผลการทดลอง
- 5.2 ข้อเสนอแนะ
ค. เอกสารอ้างอิง
อ้างอิงท้ายเล่ม เป็นการรวบรวมรายการเอกสารทั้งหมดที่ผู้เขียนได้ใช้อ้างอิงในการเขียนรายงานโครงงานวิจัย การรวบรวมเป็นรายการบรรณานุกรมหรือรายการเอกสารอ้างอิงขึ้นกับการพิจารณา ซึ่งมีข้อแตกต่างกันคือ
- บรรณานุกรม จำนวนรายการเอกสารที่อ้างอิงในส่วนนี้อาจมีมากกว่าจำนวนที่ถูกอ้างอิงไว้ในส่วนเนื้อเรื่อง หากผู้เขียนพิจารณาว่าเอกสารเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับงานวิจัยและใช้เป็นประโยชน์
- เอกสารอ้างอิง รวบรวมเฉพาะรายการที่ถูกอ้างอิงในส่วนเนื้อเรื่องเท่านั้น ดังนั้นจำนวนรายการอ้างอิงในส่วนท้ายต้องมีจำนวนเท่ากับจำนวนรายการที่ถูกอ้างอิงไว้ในเนื้อเรื่อง
สำหรับรายงานโครงงานวิจัยทางชีววิทยาให้นักศึกษาใช้รายการอ้างอิงท้ายเล่มเป็นแบบ “เอกสารอ้างอิง” เท่านั้น ส่วนรูปแบบการเขียนให้ดูใน “รูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิงท้ายเล่ม”
ง. ภาคผนวก
เป็นส่วนที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ตารางบันทึกข้อมูล รูปภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เช่น แบบสอบถาม แบบทดสอบ เป็นต้น การจะมีภาคผนวกหรือไม่ขึ้นกับความเหมาะสม หากมีให้เริ่มภาคผนวกในหน้าถัดจากเอกสารอ้างอิง โดยมีข้อความ “ภาคผนวก” อยู่ตรงกลางหน้ากระดาษส่วนกลาง รายละเอียดในภาคผนวกให้แสดงในหน้าถัดไป อาจแบ่งเป็นภาคผนวกย่อย ให้ลำดับโดยใช้พยัญชนะไทย เช่น ภาคผนวก ก ภาคผนวก ข ภาคผนวก ค เป็นต้น